บางคนอาจเคยรับประสบการณ์ในการปวดฟันคุด ซึ่งเรียกได้ว่าทรมานสุดๆ บางคนก็โชคดีที่ไม่มีฟันคุดให้รู้สึกเจ็บปวด หรือบางคนอาจจะมีฟันคุด แต่ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดใดๆ จนเกิดคำถามขึ้นมาว่ามีฟันคุดแต่ไม่ผ่าได้หรือไม่? ถ้าไม่ผ่าจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง? มาดูคำตอบกัน
ฟันคุด คือ ฟันกรามซี่ในสุด หากฟันกรามขึ้นมาตามปกติพร้อมกับมีตำแหน่งการขึ้นที่เหมาะสม มันก็มีหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหารเหมือนฟันปกติทั่วไป แต่หากฟันกรามซี่ในสุดมีปัญหาในการขึ้น ไม่สามารถโผล่ขึ้นมาบนช่องปากได้ตามปกติ หรือโผล่ขึ้นมาเพียงบางส่วน จะเรียกว่าฟันคุด ซึ่งเจ้าฟันคุดนี้เมื่อขึ้นมาในปากแล้ว แม้ว่าจะเจ็บปวดหรือไม่ก็ตาม ทันตแพทย์จะแนะนำให้ผ่าฟันคุดอยู่ดี เพราะฟันคุดเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดเหงือกอักเสบ เกิดการติดเชื้อ การเป็นฝีในช่องปาก รวมถึงส่งผลให้ฟันซี่ข้างเคียงผุได้ง่าย ยิ่งฟันคุดอยู่ลึกมากเท่าไหร่ อาการปวดบวมและอักเสบจะยิ่งมีขึ้นมากเท่านั้น ดังนั้นต้องผ่าฟันคุดออกเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ก่อนที่มันจะเกิด
หากไม่ยอมเข้ารับการผ่าฟันคุด คุณจะต้องเจอกับปัญหาช่องปากหลายอย่าง ดังนี้
- เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุที่ฟันกรามซี่ข้างเคียง
- เหงือกในบริเวณที่ปกคลุมฟันคุดอักเสบ หรือมีการติดเชื้อ
- มีกลิ่นปาก เนื่องจากเหงือกที่อักเสบ ฟันผุ และเศษอาหารตกค้าง
- ฟันเรียงเก จากแรงดันตัวของฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมา
- ทำให้เกิดโรคเหงือก
- เกิดถุงน้ำหรือเนื้องอกรอบๆฟันคุด ทำให้ฟันเคลื่อนที่ผิดตำแหน่งเดิม กระดูกรอบๆ เกิดการกร่อนละลาย เป็นอันตรายกับเหงือกและฟันใกล้เคียง จนถึงอาจขยายขนาดใหญ่จนใบหน้าผิดรูป มีปัญหาการสบฟันตามมาได้
- รู้สึกปวดฟันเรื้อรังจากแรงดันของฟันคุด
- ส่งผลต่อการจัดฟัน ทำให้การจัดฟัน ครอบฟัน หรือการใช้ฟันปลอมไม่เป็นไปตามที่ต้องการ
หลายคนกลัวการผ่าฟันคุด แต่จริงๆแล้วการผ่าฟันคุดถึงแม้ว่าจะเจ็บก็เจ็บแค่เล็กน้อยตอนโดนฉีดยาชาเท่านั้น ซึ่งหากจะเปรียบเทียบความเจ็บ ต้องบอกเลยว่าเจ็บน้อยกว่าการปวดฟันคุด และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อฟันคุดซี่นั้นมีปัญหา ดังนั้นหากมีฟันคุดขึ้นควรผ่าออกดีกว่า เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาช่องปากให้เจ็บตัวมากกว่านี้ในภายหลัง