ฟันปลอมเป็นทันตกรรมประดิษฐ์ ที่ออกแบบงานฟันให้ออกมามีรูปร่างคล้ายกับฟันจริง เพื่อทดแทนฟันที่มีการสูญเสียไป มีทั้งแบบหลายซี่, ซี่เดียว, เต็มซี่ หรือเป็นชิ้นส่วน รวมถึงการอุดช่องว่างจากการสูญเสียฟันอย่างน้อยหนึ่งซี่ขึ้นไป และสามารถใส่เพื่อชดเชยฟันเดิมที่ได้รับผลกระทบ และช่วยปรับโครงสร้างปากหรือขากรรไกรให้ทำงานเป็นปกติ ให้ฟันกลับมาใช้งานได้ปกติดังเดิม
ฟันปลอมมีกี่แบบ?
ปัจจุบันการทำฟันปลอมมีให้เลือกทำ 2 แบบด้วยกัน ได้แก่
- การทำฟันปลอมแบบติดแน่น
การทำฟันปลอมแบบติดแน่นจะเป็นฟันปลอมที่ติดยึดแน่นในช่องปากเลย ไม่สามารถถอดออกมาเพื่อทำความสะอาดภายในช่องปากได้
- การทำฟันปลอมแบบถอดได้
การทำฟันปลอมแบบถอดได้จะเป็นการใส่ฟันเพียงบางส่วนเท่านั้น แล้วใช้ตะขอเกี่ยวยึดเกาะกับฐานฟันธรรมชาติ คนไข้สามารถปลดตะขอออกเพื่อทำความสะอาดได้ โดยการทำฟันปลอมแบบถอดได้ก็จะแบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่
2.1. ฟันปลอมแบบถอดได้บางส่วน
คนไข้ที่ยังมีฟันจริงหลงเหลืออยู่ สามารถทำฟันปลอมแบบถอดได้บางส่วนได้ โดยโครงฟันปลอมสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทตามความต้องการ ดังนี้
- ฟันปลอมฐานพลาสติก เป็นฟันปลอมที่เหมาะกับคนที่ฟันหายไปไม่มาก ฐานพลาสติกค่อนข้างจะหนา การใช้งานช่วงแรกอาจน่ารำคาญไปบ้าง แต่ใช้ไปนานๆก็จะชินไปเอง
- ฟันปลอมฐานยืดหยุ่น ฟันปลอมประเภทนี้ทำมาจากพลาสติกเช่นเดียวกัน แต่จะต่างจากฟันปลอมประเภทแรก เหมาะกับคนที่ต้องการใช้ฟันปลอมทดแทนฟันจริงเพียง 1 – 2 ซี่
- ฟันปลอมฐานโลหะ ฟันปลอมประเภทนี้มีความแข็งแรง ทนทานมากที่สุด ใช้เคี้ยวอาหารได้ดี อีกทั้งยังยึดเกาะฟันได้ดีด้วย แต่การทำฟันปลอมประเภทนี้จะใช้เวลาทำหลายครั้งประมาณ 2 – 4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับจำนวนฟันที่หายไปของคนไข้
- ฟันปลอมฐานโพลิเมอร์ ฟันปลอมประเภทนี้มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น น้ำหนักเบา เหมาะกับผู้ที่แพ้โลหะ หรือไม่ต้องการให้เห็นสีของโลหะ
2.2. ฟันปลอมแบบถอดได้ทั้งปาก
มีลักษณะเป็นฟันปลอมฐานพลาสติก หรือมีการเสริมโครงโลหะที่ฐานฟันปลอมเพื่อเพิ่มความแข็งแรง แต่ฟันปลอมแบบนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนหลายเดือนหลังจากที่ใส่ไปแล้ว เนื่องจากกระดูกที่รองรับฟันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดที่ฟื้นตัว อาจทำให้ฟันปลอมหลวมได้
ข้อดีของการทำฟันปลอมแบบถอดได้
- สามารถใส่ได้หลายซี่ หรือใส่ได้ทั้งปาก
- ถอดออกมาทำความสะอาดได้ง่าย
- มีราคาถูกกว่าการทำฟันปลอมแบบติดแน่น
ข้อเสียของการทำฟันปลอมแบบถอดได้
- มีส่วนของเพดานปากที่ติดกับฟันปลอม อาจทำให้รู้สึกรำคาญเวลาพูดหรือทานอาหารได้
- การบดเคี้ยวทำได้ไม่ดีเท่าการทำฟันปลอมแบบติดแน่น
- เวลายิ้มแล้วทำให้เห็นตะขอฟันปลอม
วิธีการดูแลฟันปลอม
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ความเหนียว แข็ง เพราะอาจทำให้ฟันปลอมหลุดออกมาขณะเคี้ยวอาหารได้
- หลังจากที่ทานอาหารเสร็จ ควรถอดฟันปลอมออกมาล้างทุกครั้งด้วยน้ำสะอาด แล้วใช้แปรงสีฟันขนนุ่มทำความสะอาดเพื่อกำจัดเศษอาหารออกจากฟันปลอม อย่าใช้ยาสีฟันทำความสะอาดฟันปลอมเด็ดขาด เพราะจะทำให้สารในยาสีฟันทำให้ฟันปลอมสึกได้
- ใช้เม็ดฟู่แช่ฟันเพื่อทำความสะอาดปลอม และกำจัดเชื้อโรคที่ซ่อนอยู่อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง
- ก่อนนอนให้ถอดฟันปลอมแช่น้ำเพื่อคงรูปร่างของฟันปลอมไว้ ไม่ควรเก็บฟันปลอมไว้ในที่แห้ง เพราะจะทำให้ฟันปลอมบิดเบี้ยวและไม่สามารถใส่ฟันปลอมได้สนิทกับเหงือกเหมือนเดิม
- ระวังทำฟันปลอมหล่น เพราะพลาสติกที่เป็นส่วนประกอบของฟันปลอมอาจแตกหักเสียหายได้