การที่เรามีปัญหาช่องปาก เช่น ปวดเหงือก มีกลิ่นปาก และเลือดออกขณะแปรงฟัน นั่นเป็นเพราะมีหินปูนเข้าไปเกาะตามฟันของเรานั่นเอง ซึ่งหินปูนนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่รวมตัวกับโปรตีนหรือเศษอาหาร และเกิดจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์ในช่องปากจนกลายเป็นแผ่นจุลินทรีย์เกาะอยู่ที่ขอบฟันที่ติดกับเหงือก เมื่อสะสมกันเยอะๆเข้าก็จะมีลักษณะเป็นคราบหินปูน และเกาะแน่นที่ฟัน จนเกิดปัญหาดังกล่าวตามมา แต่ปัญหานี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการขูดหินปูน
การขูดหินปูน หรือ Dental Scaling เป็นการกำจัดคราบหินปูนที่เกาะอยู่ตามบริเวณฟันและซอกฟัน โดยใช้เครื่องมือทันตกรรม หรือบางครั้งทันตแพทย์อาจพิจารณาใช้อุปกรณ์ขูดหินปูนด้วยคลื่นความถี่สูง (Ultrasonic Scaler) เพื่อทำการกำจัดคราบหินปูน เพราะการใช้คลื่นความถี่สูงจะลดการเสียเลือด ลดอาการบวม และเจ็บน้อยกว่าการใช้เครื่องมือทันตกรรมแบบปกติ
ความสำคัญของการขูดหินปูน
เราควรให้ความสำคัญกับการขูดหินปูน ด้วยการเข้ารับการขูดหินปูนทุกๆ 6 – 12 เดือน เพราะการขูดหินปูนเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันโรคเหงือก หากปล่อยหินปูนสะสมมากๆนอกจากจะทำให้เหงือกอักเสบแล้ว อาจทำให้เกิดฟันผุ และมีปัญหาสุขภาพฟันด้านอื่นๆตามมา จนถึงขั้นต้องทำการรักษาโดยการถอนฟัน ซึ่งคงไม่มีใครอยากโดนถอนฟันแล้วใส่ฟันปลอมตลอดชีวิต ฉะนั้นควรให้ความสำคัญกับการขูดหินปูนกันด้วย
ขูดหินปูนเหมาะกับใครบ้าง?
การขูดหินปูนสามารถทำได้กับทุกคน ยกเว้นผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง, ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ผู้ป่วยโรคไตวาย, ผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด ที่ต้องปรึกษาทันตแพทย์ก่อนทำการขูดหินปูน
ขั้นตอนของการขูดหินปูน
การขูดหินปูนเป็นหนึ่งในทันตกรรมที่ทำเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที โดยขั้นตอนของการขูดหินปูน แบ่งออกเป็น 7 ขั้นตอน ดังนี้
- ตรวจสุขภาพฟัน
ทันตแพทย์จะต้องตรวจสุขภาพฟันให้กับคนไข้ก่อนการเข้ารับการขูดหินปูน เพื่อหาสัญญาณของเหงือกอักเสบ และปัญหาสุขภาพฟันอื่นๆ
- ขูดหินปูน
เมื่อทันตแพทย์ทำการตรวจสุขภาพฟันแล้วไม่พบว่ามีปัญหา จากนั้นก็เริ่มการขูดหินปูน โดยใช้เครื่องมือในการขูดหินปูนและคราบแบคทีเรียออกจากบริเวณใกล้ๆกับเหงือก และระหว่างเหงือกกับฟัน การขูดหินปูนจะใช้เวลานานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปริมาณหินปูนและบริเวณที่เกิดหินปูน
- ขัดทำความสะอาดฟัน
หลังจากที่ทันตแพทย์ขูดหินปูนออกจนหมดแล้ว จากนั้นทันตแพทย์ก็จะใช้หัวแปรงไฟฟ้าทำความสะอาดและกำจัดคราบหินปูนที่ตกค้างหลังจากการขูดออกไป ทั้งนี้การใช้หัวแปรงไฟฟ้าจะใช้ควบคู่กับผงขัดฟันที่ใช้สำหรับการขัดฟันโดยเฉพาะ
- ใช้ไหมขัดฟัน
เมื่อขัดทำความสะอาดฟันด้วยผงขัดฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์ก็จะใช้ไหมขัดฟันขัดตามซอกฟันเพื่อตรวจสอบว่ามีบริเวณร่องฟันหรือส่วนใดของเหงือกที่มีปัญหาหรือไม่ หากบริเวณดังกล่าวอ่อนแออาจเกิดเลือดออกขึ้นได้ นอกจากนี้การใช้ไหมขัดฟันยังช่วยขจัดคราบหินปูนหรือยาสีฟันที่อาจตกค้างจากการขัดฟันได้อีกด้วย
- บ้วนปาก
เสร็จจากการใช้ไหมขัดฟัน ก็เป็นการบ้วนปาก โดยทันตแพทย์จะให้บ้วนปากหนึ่งครั้งก่อน เพื่อล้างเศษที่ยังตกค้างจากการขูดหินปูน
- ขจัดคราบ
การขจัดคราบเป็นการใช้แรงดันควบคู่กับน้ำยาที่ช่วยล้างคราบที่ติดบนผิวฟันออก เช่น คราบชา กาแฟ บุหรี่ คราบน้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีสีเข้มต่างๆ ออกโดยไม่ทำร้ายผิวฟัน
- เคลือบฟลูออไรด์
ขั้นตอนสุดท้ายของการขูดหินปูนคือการเคลือบฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ โดยแพทย์จะใส่สารสำหรับเคลือบฟันลงในถาดเคลือบฟลูออไรด์ที่มีลักษณะคล้ายถาดพิมพ์ฟัน แล้วให้ผู้ป่วยกัดไว้ประมาณ 1 นาทีแล้วนำออก เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการขูดหินปูน
การดูแลฟันหลังการขูดหินปูน
- หลี่กเลี่ยงการทานอาหารรสจัด และเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ฟันเหลืองเร็วขึ้น
- หากมีการอักเสบหรือมีหนองบริเวณเหงือกหลังการขูดหินปูน ต้องรีบไปพบทันตแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเกิดการติดเชื้อขึ้นได้
- หากมีอาการเสียวฟัน ให้ใช้ยาสีฟันที่ช่วยลดอาการเสียวฟัน แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้น ให้รีบไปพบทันตแพทย์
- หากมีอาการปวดฟัน ปวดเหงือก เหงือกบวม ควรทานยาบรรเทาอาการปวดหรือยาแก้อักเสบ ที่ทันตแพทย์ให้อย่าง เคร่งครัด
- ให้กลับมาพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน – 1 ปี เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก